ภายหลังการเปลี่ยนผ่านไปสู่วิถีชีวิตยุคใหม่ บทบาทและความเป็นไปของคนเราซึ่งครั้งหนึ่งอาจมีความฝันที่หลงเหลือนับแต่เยาว์วัยจนพัฒนาไปสู่ความคิดในเชิงอุดมคติ หรืออย่างน้อยก็เพื่อให้ชีวิตได้อยู่รอดและค้นพบความสุข ก็น่าจะมีความหวังที่จะบันดาลให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้บ้าง
ทว่าในความเป็นจริง เป้าหมายชีวิตเหล่านั้นกลับเลือนลาง ยากจะมุ่งเข็มให้เป็นไปตามใจปรารถนา เนื่องเพราะเหตุปัจจัยหลายด้านบีบคั้นให้ชีวิตเดินไปในกระแสแห่งอำนาจและผลประโยชน์ ทั้งๆ ที่ตัวละครที่ปรากฏเหล่านี้ล้วนแสดงบทบาทภายใต้พื้นเพเดียวกัน เวทีเดียวกัน และโลกใบเดียว
“พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์” นักเขียนเรื่องสั้นมือฉมัง จึงได้ถ่ายทอดความขัดแย้งภายในโลกใบเดียวกันนี้ไว้ใน โลกเล่าละคร เพื่อสร้างภาพเปรียบให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ภายใต้ผืนโลกอันเปรียบประดุจเวทีละครขนาดใหญ่ ได้ปรากฏ “เรื่องเล่า” เกี่ยวกับความขัดแย้งของผู้คนซึ่งมิอาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากความฝันและอุดมคติ แต่ทว่า “ความจริง” อันโหดร้ายไม่อาจทำให้ “เขา” หรือ “เธอ” มุ่งหมายไปสู่ความคิดเชิงอุดมคติได้ดังประสงค์
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทหารชั้นผู้น้อยที่ตัดศีรษะศัตรูเพียงเพราะต้องการความนับถือจากลูกน้องจนกระทั่งตนเองกลายเป็นคนโรคจิต เรื่องการใช้ชีวิตโดยยึดติดกับเหตุผลหากแต่ลูกชายคนเดียวกับสร้างเรื่องชวนเศร้าไว้อย่างน่าเวทนา เรื่องของคนที่มีอุดมการในการทำงานสร้างสรรค์แต่กลับถูกบิดผันเนื่องเพราะความต้องการทางธุรกิจ จนถึงเรื่องของผู้ดิ้นรนใฝ่ฝันที่จะไปทำงานเมืองนอก สุดท้ายกลับหมดเนื้อหมดตัวเพราะถูกหลอกจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด
เหล่านี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของ “ตัวละคร” ที่หอบหิ้วเป้าหมายของตนเวียนวนอยู่ใน “โลกใบนี้” ด้วยวิธีการเรียบเรียงของนักเขียนมือรางวัลเพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าความจริงจะกดดันสักเท่าไหร่ มนุษย์ก็ยังไม่ละความพยายามที่จะใฝ่ฝันและควานคว้าถึงสังคมที่ “ควรจะเป็น”