ทุกปรากฏการณ์ของแวดวงวรรณกรรม น้อยนักที่จะมีผู้รับรู้ความเป็นไปในแวดวงได้อย่างละเอียดละออผ่าน “ประสบการณ์ตรง” หากแต่หนึ่งใน “ผู้รับรู้” เหล่านั้น ย่อมปรากฏ “ณรงค์ จันทร์เรือง” ในฐานะนักเขียนอาวุโสของไทย
หลงน้ำหมึก รวมบทความจากนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ จึงปรากฏอยู่ในบรรณพิภพอีกครั้ง ในฐานะที่เป็นซีรี่ส์เดียวกับหนังสือชุด “มิตรน้ำหมึก” จากผู้เขียนคนเดียวกัน
เนื้อหาในเล่ม ยังคงเชื่อมโยงถึงหนังสือของผู้เขียน ๓ เล่มที่แล้ว (มนตร์น้ำหมึก, เย็นน้ำหมึก, หอมน้ำหมึก) โดยเฉพาะประเด็นที่นักเขียนใหม่ไม่ยอมรับสถานะของบรรณาธิการ ยุคทองของนวนิยายที่มีลักษณะการเขียนในหลากหลายรูปแบบ โดยผู้เขียนได้อธิบายถึงวิธีการเขียนในรูปลักษณ์หลากหลาย อาทิ เขียนแบบเย่นเย้อ เขียนแบบเร้าใจ หรือเขียนให้น่าติดตาม
นักเขียนเหล่านั้นเขาทำได้อย่างไร...
ไม่เพียงเท่านั้น เขายังเล่าถึงปกและภาพประกอบที่เริ่มจะมีอิทธิพลต่อการผลิตงานสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะด้านวรรณกรรม การผลิตของพ๊อกเก็ตบุ๊คที่มากขึ้นเป็นอุตสาหกรรม รวมถึงอาชีพอื่นๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนทำหนังสือ ในขณะเดียวกัน การเขียนคอลัมน์ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ มีการติดตามอ่านคอลัมน์ การเปิดเผยตัวตนของคอลัมนิสต์ และอิทธิพลของคอลัมน์ที่มีต่อสังคมนักเขียนโดยรวม
นับเป็นหนังสือที่ฉายให้เห็นทิศทางการเติบโตของคนวรรณกรรมรุ่นก่อน จนถึงคนวรรณกรรมรุ่นใหม่ ราวกับนำ “แผนที่วรรณกรรม” ออกมากางดูกันเลยทีเดียว