ตะกร้าสินค้า

คุณสามารถปรับเปลี่ยนจำนวนสินค้าจากรายการด้านล่างได้

สินค้า ราคา จำนวน ราคารวม
ไม่มีรายการสินค้าที่เลือกไว้

ISBN9786169399452
ปกหนังสืออ่อน
พิมพ์ครั้งที่1 : ตุลาคม 2565
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

ให้คนดีปกครองบ้านเมือง : การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย

ผู้เขียน : ประจักษ์ ก้องกีรติ


หนังสือเล่มนี้ถือกำเนิดขึ้นมาจากความตั้งใจของผู้เขียนที่ต้องการรื้อถอนมายาคติ “การเมืองของคนดี” และแนวคิดที่ว่าด้วย “ให้คนดีปกครองบ้านเมือง” ซึ่งครอบงำสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แนวความคิดนี้มิได้เพิ่งก่อตัวในยุควิกฤตการเมืองปัจจุบัน แต่มีรากฐานย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคเผด็จการทหารในสมัยทศวรรษ 2500-2510 ที่ชนชั้นนำจารีตและกองทัพประดิษฐ์สร้างวาทกรรม “ประชาธิปไตยแบบไทย” ขึ้นมาเป็นอุดมการณ์หลักในการกล่อมเกลาประชาชนให้สยบยอมต่ออำนาจ รวมทั้งให้ความชอบธรรมกับระบอบคณาธิปไตยของชนชั้นนำที่โดยเนื้อแท้แล้วเป็นระบอบอำนาจนิยมที่ฉ้อฉล รุนแรง และขาดความชอบธรรม



แนวคิดเรื่องการเมืองคนดีเป็นแนวคิดที่น่ากลัว เพราะมันถูกทำให้เป็นแนวคิดที่ดูไม่มีพิษภัย เป็นแนวคิดที่ถูกต้องโดยมิต้องตั้งคำถาม ราวกับเป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกสังคมควรถูกปกครองด้วยคนดีจำนวนน้อยที่มีคุณธรรมและศีลธรรมสูงส่งเพื่อกำราบและกำจัดคนเลวซึ่งชั่วร้ายและโง่เขลาซึ่งมีอยู่จำนวนมากในสังคม งานชิ้นนี้ชวนให้ผู้อ่านตั้งคำถามกับวาทกรรมและปฏิบัติการทางการเมืองที่เชิดชูเรื่องการเมืองของคนดีผ่านการศึกษาวิกฤตการเมืองร่วมสมัย



ในบรรดาขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประวัติศาสตร์ไทย อาจกล่าวได้ว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่นำโดย “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อย่อ “กปปส.” เป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่พยายามสร้างอัตลักษณ์ความเป็น “คนดี” ให้กับตนเองขึ้นมาอย่างเป็นระบบในลักษณะที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเมื่อเทียบกับขบวนการทางการเมืองอื่นๆ ของไทย อัตลักษณ์คนดีนี้ถูกสร้างขึ้นมาผ่านกระบวนการสร้างขั้วตรงข้าม “คนดีกับคนเลว” และ “ธรรมกับอธรรม” เพื่อหลอมรวมผู้ชุมนุมจากหลากหลายอาชีพ การสร้างขั้วตรงข้ามแบบขาวดำเช่นนี้มีส่วนสำคัญที่นำไปสู่การลดทอนความเป็นมนุษย์ของประชาชนที่มีความคิดและความเชื่อทางการเมืองตรงกันข้าม และถูกนำไปให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงของฝ่าย กปปส. เพราะขบวนการ กปปส. เชื่อว่าตนกำลังต่อสู้ในภารกิจที่สูงส่งในการปกป้องชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ และกำจัดคนเลว การใช้มาตรการทุกวิถีทางรวมทั้งความรุนแรงเพื่อโค่นล้มรัฐบาลและผู้สนับสนุนรัฐบาลที่เป็นคนไร้ศีลธรรมและมีสถานะต่ำกว่าจึงถูกอธิบายว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อรื้อฟื้นระเบียบทางสังคมและการเมืองที่ตั้งอยู่บนฐานศีลธรรมอันดีงามและการเมืองที่กำกับควบคุมโดยคนดี



หนังสือเล่มนี้ชวนให้ผู้อ่านระแวดระวังกับการเมืองของคนดีและตั้งคำถามกับการเมืองเชิงศีลธรรม เพราะจากประสบการณ์ของการเมืองไทย การเมืองเชิงศีลธรรมมิได้อยู่ตรงข้ามกับความรุนแรง ตรงกันข้าม ขบวนการทางการเมืองที่เชิดชูศีลธรรมกลับสนับสนุนความรุนแรงอย่างเปิดเผย ทั้งในส่วนความรุนแรงที่ตนเองเป็นผู้กระทำ รวมถึงความรุนแรงโดยรัฐ (ผ่านกลไกตำรวจและทหาร) เพื่อปราบปรามคนที่เห็นต่างจากตนเอง ยิ่งเชื่อว่าฝ่ายตนกำลังต่อสู้ในนามของความดีและฝ่ายตรงข้ามเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย ยิ่งทำให้การกระทำของฝ่ายตนเอง (ไม่ว่าจะร้ายแรงเช่นใด) ไม่ถูกตั้งคำถาม ในประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมา เราเห็นการปรากฏตัวของการเมืองเชิงศีลธรรมเช่นนี้หลายครั้ง ที่ชัดเจนที่สุดคือในโศกนาฏกรรมการสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ชนชั้นนำฝ่ายรอยัลลิสต์และขบวนการฝ่ายขวาใช้ความรุนแรงอย่างโหดร้ายโดยอ้างว่าทำไปเพื่อกำจัดนักศึกษาที่เป็นพวก “หนักแผ่นดิน”



ศีลธรรมที่รองรับความรุนแรงคือศีลธรรมที่น่ากลัว เราจึงต้องตระหนักถึงการเมืองของการอ้างศีลธรรมเพื่อพิทักษ์สิ่งดีงาม เชื้อมูลที่น่ากลัวในสังคมไทย แนวคิดแบบอำนาจนิยมที่หลอมรวมกับแนวคิดอนุรักษนิยมที่ยอมรับความรุนแรงและการกระทำที่อัปลักษณ์ต่างๆ โดยอ้างความดีและศีลธรรม โดยเชื้อมูลเช่นนี้มักจะปรากฏให้เห็นในช่วงที่อำนาจทางการเมืองของฝ่ายชนชั้นนำจารีตถูกสั่นคลอน