คนจีนโล้สำเภา เสื่อผืนหมอนใบจากเมืองจีนมายังประเทศไทย สร้างตัวกลายเป็นเจ้าสัว เถ้าแก่ และบางคนได้เป็นถึงกษัตริย์ ความสำคัญของคนจีนที่มากมายเช่นนี้ จึงมิอาจทำให้เรามองข้ามคนจีนในประเทศไทยได้
และไม่ว่าเราจะเป็นคนไทยแท้(?) ไทยพันธุ์ทาง หรือลูกจีน ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาเรื่องราวของคนจีนในประเทศไทย ในฐานะที่เป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทยิ่งในรัฐไทยและประวัติศาสตร์ไทย
จี. วิลเลียม สกินเนอร์ นักวิชาการอเมริกันและผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ได้เข้ามาทำการวิจัยคนจีนในประเทศไทยในช่วงทศวรรษ 2490 และรวบรวมเรื่องราวคนจีนตั้งแต่อดีตอันไกลโพ้น (ก่อนทีก็คนไทย?) จะเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณอ่าวไทย จนถึงประเทศไทยในยุคต้นสงครามเย็น (พ.ศ. 2500) มาวิเคราะห์ จำแนก แจกแจง คนจีนในประเทศไทยซึ่งในเวลานั้น คนจีนและประเทศจีนกำลังเป็นที่สนใจของสหรัฐอเมริกา
ข้อมูลการค้นคว้าของสกินเนอร์ นอกจากอ่านแล้วจะได้เห็นการวิเคราะห์และคำอธิบายการที่คนจีนถูกกลืนเป็นไทยได้อย่างไรแล้ว ยังจะได้เห็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากมาย โดยเฉพาะที่เป็นข้อมูลร่วมสมัยของตัวผู้เขียนเอง ไม่ว่าจะเป็นสถิติตัวเลขคนจีนในไทย ข่าวหนังสือพิมพ์จีนในไทย การกระจายตัวและชุมชนคนจีนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย หลักฐานเหล่านี้สำคัญอย่างยิ่งสำหรับที่สนใจประวัติศาสตร์ไทย เศรษฐกิจไทย และฯลฯ
"คลาสสิก" "ทรงคุณค่า" "แปลกใจและประทับใจ" ยืนยันอีกครั้งด้วย 3 คำจาก 3 นักวิชาการ (วรศักดิ์ มหัทธโนบล, สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ และชาญวิทย์ เกษตรศิริ) ที่มอบให้แก่ สังคมจีนในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ ของ จี. วิลเลียม สกินเนอร์