หัวใจหลักของหนังสือเล่มนี้มิได้ต้องการจะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับเวียดนามก่อนสงครามอานามสยามยุทธเท่านั้น แต่ต้องการปรับมุมมองทางประวัติศาสตร์ไทยใหม่ จากที่แต่เดิมประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาธนบุรี-ต้นรัตนโกสินทร์ มักถูกมุ่งเน้นอธิบายไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับพม่าเป็นหลัก ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่ใช่ สยามไม่ได้ให้ความสำคัญกับพม่ามากขนาดที่หนังสือ ไทยรบพม่า อธิบายไว้
แต่สยามให้ความสำคัญกับดินแดนด้านตะวันออกของสยาม คือ กัมพูชาและลาวมากกว่า เพราะดินแดนเหล่านี้คือปริมณฑลอำนาจ (mandala) ของกษัตริย์สยามมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังนั้น การเข้าควบคุมรัฐต่างๆ ในดินแดนดังกล่าวจึงเป็นภาระหน้าที่อันสำคัญของกษัตริย์สยามตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ที่กษัตริย์มองว่าตนเองเป็นผู้สืบทอดสถานะความเป็นอยุธยา
ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ในเวียดนาม เกิดสภาวะ "ว่างระเบียบ" อำนาจไม่ได้รวมศูนย์อยู่ที่จักรพรรดิราชวงศ์เล แต่ตกอยู่ในมืออ๋องตระกูลจิ่งห์และอ๋องตระกูลเหงวียน โดยเฉพาะอ๋องตระกูลเหงวียน ที่ปกครองเวียดนามทางใต้ได้เริ่มขยายอิทธิพลเข้ามาในกัมพูชา โดยการเข้าแทรกแซงการเมืองภายในกัมพูชาและพยายามสถาปนาเจ้านายกัมพูชาที่ตนเองสนับสนุน
เมื่อนโยบายรุกตะวันออกปะทะกับการขยายอิทธิพลลงใต้ของอ๋องตระกูลเหงวียน นี่จึงเป็นที่มาของความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนของสยาม-เวียดนาม ก่อนอานามสยามยุทธ โดยมีตัวละครสำคัญที่ขับเคลื่อนความเป็นไปของประวัติศาสตร์ คือ สมเด็จพระเจ้าตากสิน, รัชกาลที่ 1, และองเชียงสือ
ภาคที่ ๑
ประวัติศาสตร์ที่หายไป
ภาคที่ ๒
ศึกชิง “กัมพูชา” และ “ฮาเตียน”
ภาคที่ ๓
สายสัมพันธ์ระหว่าง “รัชกาลที่ ๑” กับ “องเชียงสือ”
ภาคที่ ๔
ความสัมพันธ์สยาม-เวียดนาม สมัยรัชกาลที่ ๒
ภาคที่ ๕
สยาม-เวียดนาม ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร