หากจะกล่าวถึงความขัดแย้งทางการเมืองในบ้านเรา หลายคนอาจพุ่งเป้าไปที่การเมืองระดับชาติ เชื่อมโยงกับนักธุรกิจ หรือนักการเมืองที่มีผลประโยชน์ระดับมหภาค
ทว่านวนิยาย “ผู้มีบุญ” จากปลายปากกาของนักเขียนมือรางวัล “ไชยา วรรณศรี” กลับเห็นรายละเอียดที่แตกต่าง
ด้วยเนื้อเรื่อง เริ่มจากหลวงพ่อองค์หนึ่งซึ่งมีชาวบ้านศรัทธาอย่างล้นหลาม ตรงข้ามกับนักการเมืองท้องถิ่นและผู้มีอิทธิพลที่กล่าวหาหลวงพ่อว่าต้องการแสวงหาอำนาจด้วยการแสดงอิทธิฤทธิ์เป็น “ผู้มีบุญ” เช่นเดียวกับตำนานการตั้งตนเป็นพระศรีอาริย์ในสมัยโบราณเพื่อปลุกปั่นชาวบ้านให้ต่อต้านทางการ
หลายฝ่ายไม่เชื่อข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็เลือกที่จะแสวงหาทางออกร่วมกับหลวงพ่อ ซึ่งความจริงก็เป็นพระที่ไม่ได้เด่นดีอะไรนัก จนสุดท้ายก็นำไปสู่การแตกแยกเป็น 2 ขั้ว โดยมีทั้งนักข่าว มือปืน ครู นักเรียน พระผู้ใหญ่ พ่อค้า หญิงม่าย เข้ามาข้องเกี่ยวกับความขัดแย้งนั้น
ถึงที่สุด ไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามจะกำจัดพระครูองค์นี้ไปได้หรือไม่ ความขัดแย้งดังกล่าวก็ยังคงอยู่ ราวกับเป็น “วัฏจักร” ของสังคมไทยที่วนเวียนอยู่กับความรุนแรง
นับเป็นนวนิยายที่สะท้อนปรากฏการณ์ “แนวร่วมด้านกลับ” อันเป็นจุดกำเนิดของความขัดแย้งในท้องถิ่น เชื่อมโยงถึง “ปรากฏการณ์ทักษิณ” โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร