ตะกร้าสินค้า

คุณสามารถปรับเปลี่ยนจำนวนสินค้าจากรายการด้านล่างได้

สินค้า ราคา จำนวน ราคารวม
ไม่มีรายการสินค้าที่เลือกไว้

ISBN9786167667966
ปกหนังสืออ่อน
จำนวนหน้า624 หน้า
น้ำหนัก1030.00 กรัม
กว้าง16.50 ซม.
สูง24.00 ซม.
หนา4.00 ซม.
พิมพ์ครั้งที่1 : พฤศจิกายน 2564
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

กว่าจะครองอำนาจนำ

ผู้เขียน : อาสา คำภา


หนังสือที่ท่านผู้อ่านถืออยู่ในมือเล่มนี้ ปรับปรุงดัดแปลงมาจากดุษฎีนิพนธ์ของผู้เขียนคือ ดร. อาสา คำภา นักวิจัยสังกัดสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนำเสนอต่อสาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย เชียงใหม่เมื่อกลางปี 2562 เรื่อง “ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ. 2495-2535” ซึ่งมีศาสตราจารย์เกียรติคุณสายชล สัตยานุรักษ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก และผมเข้าไปเกี่ยวข้องโดยได้รับเชิญให้เป็นประธานกรรมการร่วมอ่านตรวจด้วยจนกระบวนการสอบเสร็จสิ้นเรียบร้อยลง[1]

ในฐานะคนอ่านงานวิชาการ ผมรู้สึกทึ่งกับงานชิ้นนี้มากตั้งแต่แรกอ่าน กล่าวได้ว่าไม่มีงานชิ้นไหนที่วิเคราะห์วิจัยการคลี่คลายขยายตัวของ “เครือข่ายในหลวง” หรือที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่า“สถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย” (จากแนวคิด Network Monarchy ของศาสตราจารย์ Duncan McCargo ชาวอังกฤษผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทยและเอเชียอาคเนย์แห่งมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนและผู้อำนวยการ Nordic Institute of Asian Studies ประเทศเดนมาร์ก)[2] โดยเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชนชั้นนำไทยต่างๆ ในสังกัดกองทัพ, ตำรวจ, ข้าราชการพลเรือน, แวดวงธุรกิจ, พรรคการเมือง/นักการเมือง รวมไปถึงนักศึกษาปัญญาชนและคนชั้นกลางโดยรวม ในช่วงเวลายาวนานถึง 40 ปี ได้อย่างดี ลึก ละเอียด และกระจ่างขนาดนี้มาก่อน

ถือเป็นความพยายามทางวิชาการที่ทะเยอทะยานและทำออกมาได้ดีมากทีเดียว เพราะทำให้ผู้อ่านได้ “เห็น” บทบาทฐานะสำคัญทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์—มิใช่แบบโดดๆ เดี่ยวๆ ปลอดบริบทแวดล้อมซึ่งเป็นภาพที่คับแคบคลุมเครือ—หากเป็นภาพของสายใยสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนกับกลุ่มชนชั้นนำอื่นๆ อย่างชัดเจน

การตามแกะรอยประวัติศาสตร์เครือข่ายในหลวงอย่างอุตสาหะพากเพียรและเฉียบคมนี้เกิดขึ้นได้ก็ด้วยคุณอาสายึดกุมแนวคิดหลักจำนวนหนึ่งซึ่งสอดคล้องเข้าเรื่องกับเป้าแห่งการศึกษา ทำความเข้าใจมัน แล้วค้นข้อมูลมหาศาลมหัศจรรย์พันลึกมาเรียบเรียงเล่าเป็นเรื่อง โดยอาศัยแนวคิดเหล่านั้นเป็นตะแกรงร่อนจับข้อมูลมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน อีกทั้งวิเคราะห์แสดงเหตุปัจจัยหลักในการคลี่คลายเรื่องไป ดังนั้นก็ชวนให้อ่านสนุกและต่อเนื่อง อีกทั้งมีชื่อบุคคลเกี่ยวข้องเยอะแยะมากมายซึ่งผู้เขียนได้ช่วยทำบัญชีรายการ Who’s Who in the Thai Network Monarchy ประกอบเป็นภาคผนวกไว้อย่างสะดวกเพื่ออ้างอิงค้นคว้าท้ายเล่มด้วย

อันที่จริง ผมเผอิญได้เห็นงานของคุณอาสาชิ้นนี้ตั้งแต่ก่อหวอดตั้งไข่ในรูปรายงานวิชาการของกลุ่มนักศึกษาปริญญาเอกที่น่าสนใจซึ่งอาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ ชวนให้ผมไปอ่านคอมเมนต์ในงานสัมมนาที่สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่เมื่อราวแปดปีก่อน ผมเอะใจว่ารายงานของคุณอาสาซึ่งทำเรื่องเครือข่ายในหลวงช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 ตอนนั้นโดดเด่นน่าสนใจ ผมได้เอ่ยชื่นชมและให้กำลังใจคุณอาสาไว้ในที่สัมมนา[3]

ทว่าเมื่อเทียบกับผลงานสำเร็จรูปท้ายสุดเล่มนี้ก็จะพบว่าผู้เขียนได้ขยายช่วงเวลาการศึกษาวิจัยเครือข่ายในหลวงยืดยาวออกไปอักโข ทั้งย้อนหลังกลับไปถึงช่วงเครือข่ายฯ เริ่มก่อตัวขึ้นกลางพุทธทศวรรษ 2490 ภายใต้รัฐบาลนายกฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และเดินหน้าต่อไปถึงเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม พ.ศ. 2535 สมัยที่เครือข่ายฯ แผ่ขยายตัวกว้างขวางออกไปตามพระราชอำนาจนำซึ่งขึ้นสู่กระแสสูงในยุคที่นำไปสู่รัฐบาลนายกฯ พลเอกสุจินดา คราประยูร

เมื่อเพื่อนอาจารย์ที่สนิทสนมกันทางเชียงใหม่ได้ยินกิตติศัพท์ของงานชิ้นนี้ ก็ขอให้ผมลองช่วยสรุปสั้นๆ ให้ฟังว่าเป็นอย่างไร ? ผมหลุดปากตอบท่านไปว่ามันคือ “สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่มีเชิงอรรถ” นั่นเอง !

ในความหมายที่ว่าเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์—ปัญญาชนสยามอาวุโสแห่งซอยสันติภาพ บางรัก—นั้นเป็นเอตทัคคะผู้รอบรู้หยั่งลึกเรื่องราวในแวดวงเจ้านายขุนนางชั้นผู้ใหญ่และวงการพระสงฆ์อย่างพิสดารพันลึก ใครแวะเวียนไปหาสนทนากับท่าน ท่านก็มักบอกเล่าเรื่องเหล่านี้ให้ฟังอย่างน่าทึ่งชวนตื่นตะลึง อีกทั้งท่านยังอภิปรายความและเขียนหนังสือเรื่องดังกล่าวไว้มากมายหลายเล่ม ชั่วแต่ว่าปกติท่านไม่ถือธรรมเนียมวิชาการฝรั่งสมัยใหม่ ข้อเขียนและเรื่องเล่าของท่านจึงไม่บอกแจ้งแหล่งอ้างอิงกำกับไว้ ผู้ฟังผู้อ่านก็ได้แต่ฟังท่านเชื่อท่านนั้นแลเป็นแหล่งอ้างอิงสุดท้ายที่มีชีวิตพูดได้เดินได้

จนกระทั่งผมเคยได้ยินคำกล่าวขวัญกันว่าอาจารย์แล ดิลกวิทยรัตน์ แห่งกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยบ่นทำนองว่าปัญหาของการจะใช้งานอาจารย์สุลักษณ์ในทางวิชาการก็คือ ท่านไม่มีเชิงอรรถ ไม่รู้จะสืบค้นอ้างอิงต่อได้ยังไงนั่นเอง

แต่งานของคุณอาสาซึ่งบรรยายวิเคราะห์เครือข่ายสายสัมพันธ์ในหมู่เจ้านาย ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ตุลาการ นักธุรกิจ นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชนนักวิชาการ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ หน่วยงานมูลนิธิ ฯลฯ เล่มนี้เป็นงานวิชาการที่ย่อมต้องมีเชิงอรรถอ้างอิงเป็นธรรมดา

ดังปรากฏจำนวนเชิงอรรถในบทต่างๆ 13 บทของหนังสือเล่มนี้รวมกันทั้งสิ้นถึง 1,279 เชิงอรรถ รายการเอกสารหนังสืออ้างอิงที่ใช้ค้นคว้าประกอบหากนำมาพิมพ์เรียงต่อกันก็น่าจะยาวถึง 40 หน้า ในงานทั้งเล่มที่ถูกตัดทอนให้กระชับรัดกุมขึ้นเหลือราวกึ่งหนึ่งของดุษฎีนิพนธ์ต้นฉบับเดิมซึ่งหนาถึง 731 หน้า

จากที่กล่าวมา หนังสือเล่มนี้ของคุณอาสาจึงเป็นงานที่สืบทอด ต่อยอดและพัฒนาบรรดางานวิชาการและแนวคิดวิเคราะห์สำคัญๆ ทั้งไทยและเทศเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทยซึ่งปรากฏออกมาในช่วงสองทศวรรษสุดท้ายของรัชกาลก่อน

โดยข้อค้นพบและเนื้อหาข้อมูลจากการค้นคว้าวิจัยของงานชิ้นนี้ได้ประยุกต์ สังเคราะห์ ข้ามพ้น ไปลึกกว่า กว้างกว่า และทำให้เป็นเนื้อหนังรูปธรรม (apply-synthesize-transcend-deepen-extend-flesh out) ซึ่งงานและแนวคิดดังกล่าวเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น :

  • พระราชอำนาจนำ ของอาจารย์ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ (พ.ศ. 2547)[4]
  • Network Monarchy ของ Duncan McCargo (พ.ศ. 2548)
  • Deep State ของ Eugénie Mérieau (พ.ศ. 2559)[5]
  • Parallel State ของ Paul Chambers & Napisa Waitoolkiat (พ.ศ. 2559)[6]

เป็นต้น

การที่ผลงานและแนวคิดวิชาการสำคัญๆ เกี่ยวกับการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดังกล่าวเหล่านี้ทยอยตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาในช่วงราว 20 ปีหลังในรัชกาลของพระองค์เป็นช่วงจังหวะพอเหมาะให้คุณอาสาได้อาศัยสังเคราะห์และประยุกต์ใช้แนวคิดจากงานเหล่านี้ในการคิดค้นขีดเขียนหนังสือเล่มนี้ และมันยังชวนให้สะท้อนย้อนคิดถึงข้อความตอนหนึ่งในปรัชญานิพนธ์เรื่อง “Philosophy of Right” (ค.ศ. 1820) ของ จอร์จ วิลเฮล์ม ฟรีดริช เฮเกล นักปรัชญาจิตนิยมชาวเยอรมัน (ค.ศ. 1770-1831) ที่ว่า :

ปรัชญามาถึงฉากเหตุการณ์เอาเมื่อสายเกินกว่าจะให้คำแนะนำสั่งสอนว่าโลกควรจะเป็นเช่นไรแล้วเสมอ ในฐานะความคิดของโลก มันจะปรากฏขึ้นก็ต่อเมื่อภาวะจริงสำเร็จรูปเรียบร้อยอยู่ที่นั่นแล้ว ภายหลังกระบวนการก่อรูปของภาวะจริงเสร็จสิ้นลงแล้ว…
เมื่อปรัชญาทาสีเทาทับลงไปบนสีเทานั้น ชีวิตรูปทรงหนึ่งก็ถึงวัยชราแล้ว สีเทาของปรัชญาที่ทาทับสีเทามิอาจปลุกมันให้หนุ่มกระชุ่มกระชวยขึ้นมาใหม่ เพียงแต่ทำให้มันเป็นที่เข้าใจได้ ด้วยว่านกเค้าแมวแห่งเทพีมีเนอร์วาย่อมกางปีกออกโผบินก็ต่อเมื่อย่ำสนธยาแล้วเท่านั้น[7]

นอกจากนี้ คุณูปการสำคัญอีกประการหนึ่งของดุษฎีนิพนธ์ของคุณอาสาก็คือมันได้สังเคราะห์ เฉลยไข และเสนอคำอธิบายอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับข้อโต้แย้งลักลั่นเหลื่อมล้ำกันเรื่องกำเนิดและการคลี่คลายขยายตัวของพระราชอำนาจนำในรัชกาลที่ 9 ระหว่าง :

ฝ่ายที่เห็นว่าพระราชอำนาจนำปรากฏเด่นชัดตั้งแต่เหตุการณ์มวลชนลุกฮือโค่นเผด็จการทหารคณาธิปไตยของจอมพลถนอม-จอมพลประภาส-พันเอกณรงค์ เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 อันได้แก่ อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล,[8] ผมเอง, และอาจารย์ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ แห่งคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ vs. ฝ่ายที่เห็นว่าพระราชอำนาจนำก่อตัวตั้งแต่ปลายพุทธทศวรรษ 2520 ถึงต้นพุทธทศวรรษ 2530 และอาจถือเหตุการณ์มวลชนลุกฮือโค่นเผด็จการ รสช. เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 เป็นหลักหมาย ได้แก่ ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[9]

โดยคุณอาสาสังเคราะห์ว่าต่างมีส่วนถูกทั้งสองฝ่าย กล่าวคือจริงว่าพระราชอำนาจนำปรากฏชัดตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 ทว่าจุดที่พระราชอำนาจนำขึ้นสูงสุดคือช่วงพฤษภาคม 2535

ประเด็นสำคัญอยู่ตรงไม่ควรมองพระราชอำนาจนำแบบหยุดนิ่งคงที่ตายตัว หรือพุ่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ทางเดียว

หากในทางเป็นจริง มีสภาพผกผันขึ้นลงตามสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงจาก 14 ตุลา 2516 ซึ่งขึ้นสูงเด่นชัด แล้วค่อยลดต่ำลงในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ก่อนที่จะค่อยๆ ฟื้นตัวสั่งสมสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกครั้งตั้งแต่กลางพุทธทศวรรษ 2520 จนขึ้นถึงจุดสุดยอดในเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 โดยมีเหตุการณ์และกระแสความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ช่วยหนุนเสริมพระราชอำนาจนำ ได้แก่ : -

พ.ศ. 2524 ความปราชัยของกบฏยังเติร์กด้วยเดชะพระบารมี และการขุดพบและเริ่มใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยอย่าง “โชติช่วงชัชวาล”

พ.ศ. 2525 การเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบสองร้อยปี และโครงการพัฒนา Eastern Seaboard

พ.ศ. 2528 การล่มสลายของขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบทของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

เป็นต้น

โดยทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบของนายกฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์(พ.ศ. 2523-2531)

จนมาถึงเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 ที่การปราบปรามมวลชนผู้ชุมนุมโดยกำลังทหารของรัฐบาลได้ยุติลงและคืนสู่ความสงบด้วยอานุภาพแห่งพระราชดำรัสที่ทรงเตือนสติผู้นำทั้งสองฝ่ายได้แก่ มหาจำลอง ศรีเมือง และนายกฯ พลเอกสุจินดา คราประยูร

นอกจากนี้ คุณอาสายังได้คิดประดิษฐ์และนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ เพื่อทำความเข้าใจเครือข่ายชนชั้นนำไทยเพิ่มเติมได้แก่ :

  • Thai elite consensus หรือ ฉันทมติในหมู่ชนชั้นนำไทย
  • Senior partnership หรือ หุ้นส่วนใหญ่ทางอำนาจ
  • Political projects หรือ โครงการทางการเมือง
  • Relative autonomy หรือ อิสระโดยสัมพัทธ์

นี่เป็นเหล่าแนวคิดที่ช่วยให้วิเคราะห์เข้าใจและอธิบายความสัมพันธ์ของบุคคล กลุ่มและฝ่ายต่างๆ ในเครือข่ายชนชั้นนำไทยได้อย่างพลิกแพลง ยืดหยุ่น อ่อนไหว มีพลวัต ไม่แข็งทื่อตายตัวหยุดนิ่งด้านเดียว และนับเป็นคุณูปการสร้างสรรค์ใหม่ทางวิชาการที่สำคัญที่สุดสำหรับการศึกษาการเมืองไทยในรัชกาลที่ 9 ของหนังสือเล่มนี้

ทำให้เห็นได้ว่าบุคคล กลุ่มฝ่ายและสถาบันต่างๆ ในเครือข่ายฯ ต่างก็มีโครงการทางการเมือง(political projects) เฉพาะของตนเองในแง่เป้าประสงค์ อำนาจ ตำแหน่ง ผลประโยชน์ อุดมการณ์ ฯลฯ ที่มุ่งหวัง

การมาเชื่อมประสานและร่วมมือกันในเครือข่ายจึงเป็นไปอย่างอิสระโดยสัมพัทธ์ (relative autonomy) เท่าที่โครงการทางการเมืองของตนสอดคล้องไปกันได้กับโครงการทางการเมืองหลักของเครือข่ายฯ และโครงการทางการเมืองของฝ่ายอื่นๆ ในสถานการณ์หนึ่งๆ มิได้เป็นการสังกัดขึ้นต่ออย่างแน่นอนตายตัว

อีกทั้งแบบแผนสัมพันธภาพทางอำนาจในเครือข่ายฯ ก็ใช่ว่าจะสถาปนาตรึงตราไว้ได้คงที่ถาวร หากผันแปรสลับสับเปลี่ยนกันได้ แล้วแต่ดุลอำนาจที่เป็นจริงของแต่ละฝ่ายในภาวการณ์หนึ่งๆ ว่าบุคคล กลุ่มฝ่ายและสถาบันใดจะขึ้นมาเป็นหุ้นส่วนใหญ่ทางอำนาจ (senior partnership) และใครจะตกเป็นรองในเครือข่ายฯ

โดยที่แบบวิถีการดำเนินความสัมพันธ์และการธำรงรักษาอำนาจของชนชั้นนำไทยโดยรวมขึ้นอยู่กับและผันแปรไปตามสิ่งที่คุณอาสาเรียกว่า ฉันทมติในหมู่ชนชั้นนำไทย (Thai elite consensus) ที่ปรากฏขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว (พ.ศ. 2495-2535) ซึ่งประกอบไปด้วย :

  • ความเห็นพ้องในจุดยืนที่พึงอยู่ตรงข้ามกับโลกคอมมิวนิสต์
  • สมาทานยอมรับแนวคิดการพัฒนาของโลกเสรีตะวันตก
  • การเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา และ
  • การแบ่งสันและไม่ควบรวมอำนาจของผู้มีอำนาจคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งต่อปริมณฑลทางอำนาจของผู้อื่น/กลุ่มอื่น หากว่ามีการแบ่งสันกันลงตัวในระดับหนึ่งแล้ว
  • คัดค้านปฏิเสธทั้งท่าทีและแนวนโยบายโลดโผนหวือหวานอกกรอบเกินไป (อย่างสมัยรัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์และรัฐบาลพลเอกชาติชาย) หรือในทางกลับกัน แข็งกร้าวแข็งทื่อตายตัวสุดโต่งทางอุดมการณ์อย่างไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงทั้งในและนอกประเทศเกินไป (อย่างสมัยรัฐบาลธานินทร์) เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าธรรมเนียม “แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ เขตใครเขตมัน ไม่เหมารวมกินรวบผูกขาดคนเดียว” เป็นข้อต้องห้าม (taboo) ที่ถือสากันในหมู่ชนชั้นนำไทย หากใครฝ่ายใดไปละเมิดเข้า ก็มักถูกชนชั้นนำกลุ่มฝ่ายอื่นๆ รวมหัวกันคัดค้านต่อต้าน จนสิ้นอำนาจไปในที่สุด นับตั้งแต่สมัยจอมพลถนอม-จอมพลประภาส-พันเอกณรงค์ มาจนถึงนายกฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

จนมาถึงสมัยนายกฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้วางตัวเป็น “คนกลาง” และดำเนินงานการเมืองอยู่ในกรอบฉันทมติข้อนี้ ไม่ล่วงล้ำก้ำเกิน จึงทำให้สามารถเชื่อมผสานชนชั้นนำฝ่ายต่างๆ ทั้งราชสำนัก ภาคทหาร ข้าราชการ เทคโนแครต ธุรกิจ ฯลฯ เข้าด้วยกันได้และครองอำนาจได้ค่อนข้างยาวนาน (พ.ศ. 2523-2531)

แน่นอน ข้อที่ควรคำนึงถึงในทัศนมิติทางประวัติศาสตร์ (historical perspective) ก็คือฉันทมติในหมู่ชนชั้นนำไทยคงไม่หยุดนิ่งแน่นอนตายตัวไปตลอด หากวิวัฒน์คลี่คลายขยายตัวไปได้ตามสภาพการณ์ทางสังคมการเมืองแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในและนอกประเทศ

ดังที่เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าในรอบกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มหันเหออกห่างจากพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกามากขึ้น และเอนเอียงเข้าหาสาธารณรัฐประชาชนจีนยิ่งขึ้นตามลำดับ[10]

หรือเหตุการณ์ยิ่งใหญ่อย่างการลุกฮือของมวลชนที่นำไปสู่การโค่นเผด็จการทหารเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 อันเป็นสัญญาณที่สังคมไทยหลุดพ้นจากการเมืองที่ผูกขาดโดยชนชั้นนำล้วนๆ (elite politics) เข้าสู่การเมืองที่มวลชนเข้าร่วมด้วย (mass politics) แล้วนั้น[11]

ย่อมพึงจะส่งผลสะเทือนให้ชนชั้นนำต้องปรับแต่งแก้ไขเพิ่มเติมฉันทมติในหมู่พวกเขาไปบ้าง อย่างน้อยก็เพื่อจัดการรับมือขบวนการมวลชนซึ่งบุกทะลวงเข้าสู่แวดวงเวทีการเมืองที่พวกเขาผูกขาดมาแต่เดิมโดยไม่ได้รับเชิญ

ดังที่อาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ เคยตั้งข้อสังเกตไว้และรองศาสตราจารย์ ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ ได้วิเคราะห์สืบต่อในประเด็นเกี่ยวเนื่องกัน[12] ซึ่งพอประมวลสรุปได้ว่าวิธีการที่ชนชั้นนำไทยใช้จัดการรับมือการเมืองของมวลชนในช่วง “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ภายหลังเหตุการณ์สังหารหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลา 2519 และสงครามประชาชนในชนบทต่อมาก็คือ :

เอามวลชนจัดตั้งออกจากท้องถนน ผลักดันพวกเขาเข้าสู่คูหาเลือกตั้งและสภาผู้แทนราษฎรในฐานะปัจเจกอะตอมไร้สังกัด แล้วประกันไม่ให้มีพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายสังคมนิยมหรือพรรคลัทธิถอนรากถอนโคนในสภา[13]

และหากคิดล่วงเลยพ้นปี 2535 อันเป็นขอบเขตของหนังสือออกไป ก็อาจเห็นได้ว่าฉันทมติในหมู่ชนชั้นนำไทยได้เพิ่มข้อที่ว่า “ชนชั้นนำไทยทยอยเกิดเพิ่มขึ้นและแบ่งสันปันส่วนเขตอำนาจและผลประโยชน์อยู่ร่วมกันได้หลายๆ กลุ่มตามสภาพเศรษฐกิจสังคมที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไป โดยทุกกลุ่มยอมตนอยู่ใต้พระบรมราชูปถัมภ์” (elite pluralism under royal patronage)

อันเป็นฉันทมติที่ถูกท้าทายล่วงล้ำไม่ว่าจะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตามโดยระบอบทักษิณนั่นเอง[14]

ในฐานะที่ฉันทมติในหมู่ชนชั้นนำไทย (Thai elite consensus) เป็นแนวคิดใหม่ซึ่งคุณอาสาคิดประดิษฐ์ขึ้นและมีบทบาทสำคัญยิ่งถึงขั้นที่เป็นปัจจัยหลักหรือตัวแปรต้น (independent variable) ในการวิเคราะห์พลวัตและอธิบายความคลี่คลายขยายตัวของสถานการณ์ทางการเมืองไทย

เราจึงพึงตั้งคำถามเกี่ยวกับว่าฉันทมติดังกล่าวมาจากไหน ? กำเนิดขึ้นได้อย่างไร ? จากอะไร ? เพื่อสามารถอธิบายตัวการหลักที่คอยให้คำอธิบายเฉลยไขเรื่องราวต่างๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

สารบัญ

บทที่ 1 ปฐมบท การเมืองเชิงเครือข่ายของชนชั้นนำไทยหลัง 2475

บทที่ 2 ฟื้นพระเกียรติ การก่อรูปเครือข่ายในหลวงช่วงต้นรัชกาล

บทที่ 3 เครือข่ายชนชั้นนำไทย สัมพันธภาพและฉันทมติภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร 2500-2516

บทที่ 4 ข้าราชการสายวัง การขยายเครือข่ายในหลวงช่วงทศวรรษ 2500 ถึงกลางทศวรรษ 2510

บทที่ 5 เครือข่ายในหลวงกับรัฐบาลจอมพลถนอม

บทที่ 6 รัฐบาลพระราชทาน พลวัตเครือข่ายชนชั้นนำไทยกับพิมพ์เขียวการเมืองหลัง 14 ตุลา

บทที่ 7 ก่อนจะถึง 6 ตุลา การควบรวมอำนาจและการละเมิดฉันทมติชนชั้นนำไทย

บทที่ 8 ลงไปสู่ประชาชน ราชประชาสมาสัยเชิงรุก และสัมพันธภาพสถาบันกษัตริย์กับคนกลุ่มใหม่หลัง 14 ตุลา

บทที่ 9 รัฐบาลพลเรือนขวาจัดหลัง 6 ตุลา แนวโน้มควบรวมอำนาจของเครือข่ายในหลวง และปฏิกิริยาของชนชั้นนำไทย

บทที่ 10 คอยแสงทองวันใหม่กลับคืนมา การแบ่งสัน(ใหม่)ในเครือข่ายชนชั้นนำไทย 2520-2523

บทที่ 11 จงรักและภักดี สัมพันธภาพผู้นำทหารกลุ่มต่างๆ กับสถาบันกษัตริย์ ต้นทศวรรษ 2520

บทที่ 12 สู่ดุลยภาพ-เสถียรภาพของเครือข่ายชนชั้นนำไทยภายใต้พระราชอำนาจนำ

บทสรุป สี่ทศวรรษเส้นทางเดินแห่งพระราชอำนาจนำ พฤษภา 35 และฉันทมติภูมิพล

ประวัติผู้เขียน

บรรณานุกรม

นามานุกรม

ดรรชนี