ตะกร้าสินค้า

คุณสามารถปรับเปลี่ยนจำนวนสินค้าจากรายการด้านล่างได้

สินค้า ราคา จำนวน ราคารวม
ไม่มีรายการสินค้าที่เลือกไว้

หลายคนตั้งคำถามกับชื่อหนังสือ Quichotte (กิช็อต) ของซัลมาน รัชดี (Salman Rushdie) บางคนคลับคล้ายว่ารูปแบบการเขียนและการออกเสียงเหมือนกับวรรณกรรมขึ้นหิ้งระดับโลกอย่าง “ดอนกิโฆเต้” และหลายคนอาจกำลังคิดว่ามันแลดูพ้องกับคำภาษาอังกฤษบางคำ
.
ไม่ว่าจะอย่างไร วันนี้สำนักพิมพ์มติชนชวนมามองเข้าไปในชื่อนวนิยายเล่มนี้และเข้าไปสำรวจว่าภายใต้ชื่อนวนิยายอันน่าฉงนนี้กำลังซ่อนและซ้อนเรื่องราวใดเอาไว้บ้าง
.
Quichotte คล้ายกับชื่อ Quixote (กิโฆเต้)
.
“ความตายของดอนกิโฆเต้ราวกับเป็นจุดสูญสิ้นของความเขลาอันงดงาม ความยิ่งใหญ่อันใสซื่อในตัวเราทุกคน ความเขลาความใสซื่อนี้ไม่มีที่ยืนบนโลก แต่อาจเรียกได้ว่าเป็นความเป็นมนุษย์ ชายซึ่งเป็นคนชายขอบ มีแต่คนหัวร่อว่าเป็นคนเพ้อเจ้อและฟุ้งซ่านอย่างที่สุด เมื่อถึงตอนจบ เขากลับเป็นคนที่เราห่วงหาอาลัยมากที่สุด จำเรื่องนี้ไว้นะ จงให้ความสำคัญกว่าเรื่องอื่น”
.
บางส่วนจากนวนิยายเรื่อง Quichotte (กิช็อต) ของซัลมาน รัชดี ที่ได้กล่าวถึงวรรณกรรมระดับโลกอย่างดอนกิโฆเต้(Don Quixote) และอีกหลายฉากตอนที่รัชดีพยายามเล่นล้อกับวรรณกรรมเรื่องนี้ ทั้งเรื่องราวของตัวละคร การสร้างตัวละคร การตั้งชื่อตัวละคร การเลือกใช้คำ การเสียดสีตั้งคำถาม ในทางหนึ่งจึงอาจกล่าวได้ว่าว่ารัชดีตั้งใจที่จะเขียนงานพูดคุยและเชื่อมโยงเรื่องเล่าของเขากับเรื่องเล่าของดอนกิโฆเต้(Don Quixote) กล่าวคือ ในศตวรรษที่ 17 มิเกล เด เซร์บันเตส ประพันธ์ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน (El ingenioso hidalgo don Quixote de la Mancha) เล่าเรื่องราวของขุนนางต่ำศักดิ์ชายชราผู้คลั่งไคล้นิยายอัศวินจนเชื่อว่าตนเป็นอัศวิน จึงตั้งสมญานามของตนว่า “ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า” จากนั้นควบม้าออกเดินทางทำภารกิจพิชิตใจหญิงสาวผู้มีขนหน้าอกนามดุลสิเนอา พร้อมกับซานโช ปันช่า อัศวินคู่หูผู้ยอมออกเดินทางฝ่าฟันอุปสรรคเพราะนึกไปว่าสุดท้ายตนจะได้ครอบครองที่ดินทั้งหมดของดอนกิโฆเต้ ในขณะที่ศตวรรษที่ 21 เช่นนี้ รัชดีก็เลือกที่จะร้อยเรียงเรื่องราวของชายชราเชื้อสายอินเดียผู้เข้ามาตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกาโดยตั้งสมญานามของตนว่า “กิช็อต” แล้วออกเดินทาง (ด้วยรถเชฟโรเลตครูซคู่ใจ) ไปยังเมืองต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกาเพื่อให้ได้พบและพิชิตใจหญิงยอดรักนามซัลมา อาร์ ที่ชายชราตกหลุมรักผ่านหน้าจอโทรทัศน์ พร้อมกับลูกชายคู่หูที่ปรากฏตัวราวปาฏิหารย์นามซานโช
.
แน่นอนว่าผู้อ่านจะเห็นความ “โคตร” บ้าในคนละศตวรรษจากนวนิยายทั้งสองเรื่องนี้ จนอาจกล่าวได้ว่า หากดอนกิโฆเต้คือตัวแทนคนบ้าของศตวรรษที่ 17 กิช็อตก็คือตัวแทนของคนบ้าของศตวรรษที่ 21 หากเซร์บันเตสเสียดสียุคสมัยของเขาไว้อย่างแยบคาย รัชดีก็ได้ทำสิ่งเดียวกัน นั่นคือยั่วล้อยุคสมัยปัจจุบันอย่างโคตรบ้าและแสบสันนั่นเอง
.
Quichotte พ้องกับคำว่า Key-Shot (คีย์ช็อต)

ชื่อของ “กิช็อต” ผู้เพ้อฝันถึงการเดินทางพิชิตใจยอดหญิงงามในจินตนาการนี้ยังออกเสียงสอดคล้องกับคำว่า "คีย์ช็อต" (Key Shot) ซึ่งเป็นวิธีในการเสพผงยาโดยใช้กุญแจเป็นอุปกรณ์ตวงวัด ซึ่งยอดหญิงงามที่กิช็อตตามหานั้นก็ยังหลงใหลดินแดนฝัน เธอก้าวข้ามผ่านพรมแดนไปเยือนได้ด้วยยา ซึ่งคือยาแก้ปวด (โอปิออยด์) ที่เธอใช้เสพเพื่อความสุขสำราญ ในทางหนึ่งมันสะท้อนถึงการหลีกเร้นออกจากความเจ็บปวดในโลกความจริงของมนุษย์และในทางหนึ่งคำว่ากิช็อตที่พ้องอยู่กับคีย์ช็อตนี้ก็เป็นการเสียดสีประเด็นการแพร่ระบาดของโอปิออยด์ในปัจจุบันที่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดอีกด้วย ผู้แปลได้เขียนไว้ในคำนำผู้แปลอย่างน่าสนใจว่า
.
“บางครั้งเราใช้ความฝันเป็นเครื่องมือหลีกหนีความธรรมดาสามัญและความเจ็บปวดในโลกความจริง ในอีกมุมหนึ่งเรื่องเล่าของซัลมาน รัชดี ซึ่งท่านถืออยู่ในมือนี้เชิญชวนให้ตั้งคำถามลึกซึ้งถึงความจริง หรือแม้กระทั่งภาวะการดำรงอยู่ของตัวเราเอง ความจริงที่เราสัมผัสได้อาจเป็นความฝันหรือเรื่องแต่ง เราอาจเป็นเพียงตัวละครเล็กๆ ในเรื่องราวที่ใครบางคนเขียนขึ้น อาจมีความจริงอีกชุดหนึ่งในโลกขนานอีกใบหนึ่งที่ไม่มีผู้ใดรับรู้…ฝีปากกาของรัชดีเสียดสีสัจจะในยุคปัจจุบันอย่างคมคายผ่านความมหัศจรรย์ในนิยาย ทั้งประเด็นการแพร่ระบาดของโอปิออยด์ซึ่งถูกนำมาใช้ในทางที่ผิด ความรักภายในครอบครัว เชื้อชาติศาสนา การเขียนวรรณกรรม ตลอดจนวัฒนธรรมร่วมสมัย”
.
Quichotte เชื่อมโยงกับคำวิเศษณ์ quixotic ควิก-ซอ-ติก
คำว่า Quichotte ยังเชื่อมโยงกับคำวิเศษณ์อย่าง quixotic ซึ่งมีความหมายว่า exceedingly idealistic; unrealistic and impractical (อุดมคติ เพ้อฝัน เป็นไปไม่ได้) ซึ่งเป็นความหมายที่เล่นล้ออยู่กับกลวิธีการดำเนินเรื่อง การสร้างตัวละคร ไปจนถึงแนวคิดที่ชวนถกถามถึงมายาของยุคสมัย เย้ยหยันต่อเส้นแบ่งของความจริง-ความไม่จริง ชวนเพ้อไปกับความฝันที่อาจกลายเป็นจริง ละเมอไปกับความจริงที่ราวกับฝัน และหัวเราะให้ความไม่ปกติทั้งหลายที่ผันกลายเป็นความปกติ ในแต่ละช่วงตอนและระหว่างบรรทัดของนวนิยายเล่มนี้จะพาเรากึ่งหลับกึ่งตื่นเพ้อพกและถกถามไปตามๆ กัน
.
“โลกนี้ไม่มีเหตุผลอีกต่อไป ทุกวันนี้อะไรก็เป็นไปได้ ที่นี่อาจเป็นที่นั่น ตอนนั้นอาจเป็นตอนนี้ ขึ้นอาจเป็นลง ความจริงอาจเป็นคำลวง ทุกอย่างไหลลื่น ไม่มีสิ่งใดให้ยึดถือ ทุกสิ่งแตกสลายไม่มีชิ้นดี พวกเราบางคนเริ่มเห็นสิ่งที่คนอื่นมืดบอด หรือตั้งใจมองไม่เห็น สำหรับคนเหล่านี้ ก็เพียงแค่ยักไหล่แล้วดำเนินหน้าที่ไปตามครรลอง”
.
.
อย่างไรก็ตาม แม้ชื่อนวนิยาย Quichotte จะเชื่อมโยงกับ 3 อย่างที่ยกมาเล่าในคอนเทนต์นี้ แต่ชื่อของ Quichotte ก็ไม่อาจหยุดนิ่งสิ้นสุดอยู่ในนิยามของใครเพียงคนเดียว ดังนั้นเมื่อผู้อ่านได้อ่าน Quichotte ด้วยตัวเองก็อาจพบว่าชื่อนวนิยายเล่มนี้ซ่อนและซ้อนเรื่องราวอื่นใดไว้อีกมากมาย อยู่ที่ว่าสายตาของผู้อ่านมองเห็นเรื่องเล่าใดในเรื่องเล่านี้ และเรื่องเล่านั้นทำงานอย่างไรกับเรื่องเล่าที่มีอยู่เดิมในความนึกคิดของผู้อ่านเท่านั้นเอง

Quichotte: กิช็อต บุรุษบ้าและมายาสมัย
ซัลมาน รัชดี เขียน / วรางคณา เหมศุกล แปล
ทดลองอ่านได้ที่: https://bit.ly/3qWYZPZ
สั่งซื้อได้ที่: https://bit.ly/3Ld5p4a